วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันวิสาฆบูชา





วันวิสาฆบูชา


วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ

1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย

วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

วันวิสาฆบูชา

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยกรุงธนบุรี









การปกครองสมัยกรุงธนบุรี

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยอยู่ 417 ปี (พ.ศ.1893-2310) ในระยะเวลาอันยาวนานนี้กรุงศรีอยุธยาได้ก้าวจากการเป็นอาณาจักรเล็กๆ มาเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ตลอดจนศาสนา วัฒนธรรม ศิลปกรรมต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมลงตามลำดับตั้งแต่ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นระหว่างพระราชวงศ์และขุนนาง เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่แตกความสามัคคีแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้กำลังทหารแยกออกเป็นกลุ่มๆ ยิ่งบ้านเมืองว่างศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน กองทัพก็ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะสู้รบ พระมหากษัตริย์เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ทรงพระปรีชาสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่ศัตรูของไทยคือ พม่ามีกำลังและอำนาจมากขึ้นภายใต้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์อลองพญา
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 ได้เกิดมีการกบฏขึ้นในหัวเมืองมอญ พม่าได้ยกกองทัพเข้าตีหัวเมืองมอญที่เมืองมะริดและตะนาวศรี แล้วเคลื่อนทัพเข้ามาในดินแดนไทยทางด่านสิงขรโดยปราศจาการต่อต้านจากฝ่ายไทย จนสามารถเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ ถ้าจะวิเคราะห์สงครามครั้งนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของพม่าแต่เดิมนั้น เพียงเพื่อต้องการปราบปรามพวกกบฏชาวมอญ ซึ่งหนีมาอยู่ที่เมืองมะริดและตะนาวศรีเท่านั้น ยังมิได้ตั้งใจจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อพม่าสามารถตีเมืองมะริดและตะนาวศรีได้อย่างง่ายดาย โดยฝ่ายไทยมิได้เตรียมการต่อสู้แต่อย่างใดแสดงถึงความอ่อนแอของไทย พม่าจึงตีหัวเมืองไทยต่อเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงราชธานี
ในการรับศึกพม่าครั้งนี้ พระเจ้าเอกทัศมิได้ทรงแสดงความสามารถในด้านการบัญชาการรบเลย ส่วนแม่ทัพนายกองของไทยก็อ่อนแอไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถมีความรักชาติบ้านเมือง ก็ไม่ได้รับความสะดวกในการสู้รบจึงเกิดความท้อถอย ดังเช่นพระยากตาก (สิน) ถึงกับตัดสินใจนำทหารประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปทางทิศตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังมาต่อสู้พม่า ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาต้องสูญเสียเอกราชแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 ซึ่งพม่ามารบพุ่งอย่างโจร เพราะพม่าไม่ได้คิดจะรักษาเมืองไทยไว้เป็นเมืองขึ้น หากแต่ต้องการจะริบเอาทรัพย์สมบัติและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยไปใช้สอยในเมืองพม่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อพม่าตีเมืองไหนได้ก็เผาเสียทั้งเมืองน้อยเมืองใหญ่ตลอดจนราชธานี แล้วเลิกทัพกลับไป ดังนั้นการเสียกรุงครั้งที่ 2 นี้ บ้านเมืองจึงยับเยินยิ่งกว่าในสมัยเสียกรุงครั้งแรก ฝ่ายหัวเมืองต่างๆ ที่มิได้ถูกพม่าย่ำยี ก็ถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระถึง 5 ชุมนุม คือ ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระยาตาก (หรือพระยาวชิรปราการ) พระยาตากได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทำการสู้รบขับไล่พม่า จนกระทั่งสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ แต่สภาพกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ พระยาตากจึงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา

การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่าแล้ว สภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป เพราะ
1. กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิมได้
2. กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางมาก เกินกว่ากำลังของพระองค์ที่มีอยู่ เพราะผู้คนอาศัยอยู่ตามเมืองน้อย ส่วนมากหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่า จึงยากแก่การรักษาบ้านเมืองได้สะดวกและปลอดภัย
3. ข้าศึกโดยเฉพาะพม่ารู้ลู่ทางภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการรบ
4. ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ ข้าศึกสามารถโจมตีได้สะดวก
5. กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงตัดสินใจเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยสาเหตุสำคัญต่อไปนี้
1. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ
2. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
3. สะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่างๆ ไปตามหัวเมืองหรือจากหัวเมืองเข้ามาช่วย เมื่อเกิดศึกสงคราม
4. ถ้าหากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังของทางกรุงธนบุรีจะต้านทานได้ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ โดยอาศัยทางเรือได้อย่างปลอดภัย
5.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลืออยู่ สามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้บ้างที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์

การรวบรวมอาณาเขต
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายแตกสาแหรกขาด ผู้คนพากันหลบหนีเอาชีวิตรอด เกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนที่รอดพ้นจากการจับกุมและไม่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ได้พยายามรักษาตัวรอด โดยการซ่องสุมผู้คนขึ้นตั้งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชุมนุม ได้แก่
1.ชุมนุมเจ้าพิมาย ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน หัวหน้าคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าเมืองพิมายมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง จึงได้สนับสนุนขึ้นเป็นใหญ่
2.ชุมนุมเจ้าพระฝาง ตั้งอยู่ที่สวางคบุรี ทางเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยไปจนถึงเมืองแพร่ เจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นสังฆราชเมืองสวาคบุรี มีความสามารถทางคาถาอาคม จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ทั้งที่อยู่ในสมณเพศ (แต่ใช้ผ้าแดงนุ่งห่มแทนผ้าเหลือง)
3.ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นหัวหน้า เป็นชุมนุมที่สำคัญทางเหนือ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัย ลงมาถึงนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นขุนนางใหญ่ที่มีความสามารถในด้านการปกครองและการรบ พวกขุนนางที่หลบหนีพม่าออกจากรุงศรีอยุธยาได้ไปสมทบกับชุมนุมนี้เป็นอันมาก ต่อมาถึงแก่พิราลัย หัวหน้าชุมนุมคนต่อมา คือ พระอินทร์อากร
4.ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าคือ เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หรือหลวงสิทธินายเวร มีอาณาเขตตั้งแต่หัวเมืองมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร
5.ชุมนุมพระยาตาก ตั้งอยู่บริเวณหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออก เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้พยายามป้องกันรักษาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นคับขันมาก ทำให้พระยาตากรวบรวมสมัครพรรคพวกไทย-จีน ประมาณ 500 คน ตีฝ่ากองทัพพม่าออกจากเมืองในเดือนยี่(มกราคม) พ.ศ.2309 เพื่อที่จะรวบรวมผู้คนมาสู้รบกับพม่าในตอนหลัง
พระยาตากมุ่งหน้าไปทางตะวันออกของเมืองนครนายก และปราจีนบุรี ผ่านฉะเชิงเทรา ชลบุรี ถึงระยอง และที่ระยอง พระยาตากได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ พวกบริวารจึงเรียกว่า “เจ้าตาก” แต่นั้นมา การที่เจ้าตากเลือกที่ตั้งมั่นทางหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก เพราะ
1.หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกไม่ได้เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพผ่าน
2.เจ้าตากตัดสินใจเข้าโจมตีเมืองจันทบุรี เพราะจันทบุรีเป็นหัวเมืองเอกทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร สามารถค้าขายกับพ่อค้าจีนทางทะเลได้สะดวก และยังมีป้อมปราการมั่นคง เหมาะสำหรับยึดเป็นที่มั่นเพื่อเตรียมการรวบรวมไพร่พลต่อไป เจ้าตากยึดเมืองจันทบุรีได้ในเดือน 7 (มิถุนายน) พ.ศ.2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

การดำเนินงานกู้อิสรภาพ
เจ้าตากใช้เมืองจันทบุรีเป็นแหล่งตระเตรียมการที่จะเข้ามากอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากอำนาจของพม่า ระหว่างฤดูฝน ได้ต่อเรือรวบรวมกำลังผู้คนและอาวุธ เจ้าตากพิจารณาว่าในระยะนั้นมีผู้คนตั้งตัวเป็นใหญ่หลายชุมนุมด้วย ผู้ที่จะเป็นใหญ่ได้จำเป็นจะต้องกำจัดอำนาจพม่าให้พ้นจากราชธานีเสียก่อน ดังนั้น เมื่อสิ้นฤดูฝนเจ้าตากได้ควบคุมเรือรบ 100 ลำ รวบรวมไพร่พล ประมาณ 5,000 คน ยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรีมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน 12 ตีเมืองธนบุรีและจับตัวนายทองอินประหารชีวิตแล้วขึ้นไปยังค่ายโพธิ์สามต้น สามารถขับไล่พม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเพียง 7 เดือนเท่านั้น
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชและรวบรวมคนไทย ตั้งเป็นอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่นได้ เป็นเพราะ
1.พระปรีชาสามารถในการรบของพระองค์
2.พระปรีชาสามารถในการผูกมัดน้ำใจคน จูงใจผู้อื่น ทรงมีความสุขุมรอบคอบ และเด็ดเดี่ยว
3.ทหารของพระองค์มีความสามารถ มีระเบียบวินัย กล้าหาญ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในอันที่จะสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยให้และประเทศโดยอุทิศตัวเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
เมื่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาณาจักรของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตเพียงกรุงธนบุรี หัวเมืองรายรอบและหัวเมืองชายทะเลตะวันออกเท่านั้น ครั้งเมื่อพระองค์ปราบปรามชุมนุมต่างๆเป็นผลสำเร็จแล้ว อาณาจักรของพระองค์ก็กว้างขวางขึ้น การรวบรวมอาณาเขตภายในราชอาณาจักรของพระองค์ ใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น บ้านเมืองก็กลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง

การปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ
แผนการปราบปรามชุมนุมต่างๆ เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2311 ด้วยการยกทัพเรือจากธนบุรี เพื่อปราบปรามชุมนุมพิษณุโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับการต่อต้านจนกระทั่งพระเจ้าตากทรงบาดเจ็บต้องยกทัพกลับ ส่วนทางพระยาพิษณุโลกเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ พอราชาภิเษกได้ 7 วัน ก็ประชวรและถึงแก่พิราลัยในที่สุด พระอินทร์อากรน้องชายได้ขึ้นครองเมืองแทน เมืองพิษณุโลกก็เริ่มอ่อนแอทรุดโทรมลงตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลกเอาไว้ได้ในที่สุด
ทางฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตาก เมื่อทราบข่าวพระยาพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยและเมืองพิษณุโลกเกิดรบพุ่งกับเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ก็เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพิมาย และตีได้เป็นชุมนุมแรก
พ.ศ.2312 โปรดให้ยกทัพไปตีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช และสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ มีผลทำให้อำนาจของกรุงธนบุรีขยายไปถึงสงขลา พัทลุงและเทพา
พ.ศ.2313 ได้ยกทัพไปปราบเจ้าพระฝางได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะเดียวกันก็ยึดเมืองพิษณุโลกได้ด้วย

การป้องกันพระราชอาณาจักร
ปัญหาที่สำคัญยิ่งตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ การรักษาเอกราชของประเทศให้มั่นคงปลอดภัย หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ได้ต้องทำการรบกับพม่าอีกหลายครั้งซึ่งส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายชนะ การทำสงครามกับพม่าครั้งสำคัญ เช่น
1. การรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พ.ศ. 2311 ผลปรากฏว่าพม่าแพ้เสียอาวุธและเสบียงอาหาร และเรือเป็นจำนวนมาก
2. พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. 2313 ผลปรากฏว่าพม่าไม่สามารถตีไทยได้
3. ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2313 สงครามครั้งนี้ต่อเนื่องจากสงครามครั้งที่ 2 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปช่วยรักษาเมืองสวรรคโลก ทรงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะยึดเมืองเชียงใหม่มาจากพม่า แต่ไม่สำเร็จ
4. พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ. 2315 แต่ไม่สำเร็จ ถูกตีแตกพ่ายไป
5. พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ. 2316 ผลปรากฏว่าพม่าพ่ายแพ้ไปทำให้เกิดวีรกรรมพระยาพิชัยดาบหักขึ้น
6. ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317 สามารถยึดเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นได้
7. การรบกับพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พ.ศ. 2317 ผลปรากฏว่าพม่าแพ้เสียชีวิตและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก
8. อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะพิษณุโลก พ.ศ. 2318-2319 สงครามครั้งนี้นับว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ในสมัยธนบุรี ผลปรากฏว่าพม่าแพ้ถูกจับเป็นเชลยหลายหมื่นคน
9 .พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319 พม่าไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ต้องแตกพ่ายไป แต่หลังจากที่พม่าแตกทัพกลับไปแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเห็นว่าเชียงใหม่มีผู้คนไม่มากพอที่จะรักษาเมือง จึงอพยพผู้คนออกจากเมืองและประกาศให้เป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ตั้งขึ้นมาใหม่

การขยายอาณาเขต
หลังจากที่เหตุการณ์ภายในกรุงธนบุรีสงบเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงเริ่มขยายอาณาเขตออกไปยังประเทศใกล้เคียง ได้แก่ เขมรและลาว
1. การขยายอำนาจไปยังเขมร ขณะนั้นดินแดนเขมรเกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างพระรามราชา (นักองนน)กับพระนารายณ์ราชา(นักองตน) พระนารายณ์ราชาไปขอความช่วยเหลือจากญวน พระรามราชาสู้ไม่ได้หนีมาขอความช่วยเหลือจากไทย ครั้งแรกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชส่งพระราชสาสน์ไปยังพระนารายณ์ราชาให้มาสวามิภักดิ์ต่อไทย แต่พระนารายณ์ราชาไม่ยอม ดังนั้นจึงทรงโปรดฯให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) นำทัพไปตีเขมรใน พ.ศ. 2312 ขณะที่ทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ พระตะบอง โพธิสัตว์ กับจะตีเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร) เขมรปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจึงยกทัพกลับพ.ศ.2314 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบชุมนุมต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จยกทัพไปตีเขมรอีกครั้งและสามารถตีเขมรได้สำเร็จ ได้สถาปนาพระรามาชาขึ้นครองเขมร ส่วนพระนารายณ์ราชาหนีไปพึ่งญวน ต่อมาได้มาสวามิภักดิ์ต่อไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เป็นพระมหาอุปโยราช (วังหน้า) (ตำแหน่งพระมหาอุปโยราช คือ ตำแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์เขมร ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งพระมหาอุปราชของไทย) เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลง
ต่อมาใน พ.ศ. 2323 เกิดการกบฏในเขมร พวกกบฏจับพระรามราชาและพระนารายณ์ราชาปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบการจลาจลได้สำเร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้นักองเองซึ่งเป็นโอรสของพระนารายณ์ราชาได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ จึงมีฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เขมรจึงหันไปพึงญวนอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปปราบเขมร ขณะที่กองทัพไทยจะรบกับเขมรอยู่นั้น ก็มีข่าวว่าทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลวุ่นวาย ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสียพระสติ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงต้องรีบยกทัพกลับ
2. การขยายอำนาจไปลาว ในสมัยกรุงธนบุรีไทยได้ทำศึกขยายอำนาจไปยังลาว 2 ครั้ง คือ
2.1 การตีเมืองจำปาศักดิ์ เพราะเจ้าเมืองนางรองเกิดขัดใจกับเจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทยไปขอขึ้นกับเจ้าโอ (หรือเจ้าโอ้) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีไปปราบ จับเจ้าเมืองนางรองประหารชีวิต ทำให้เมืองจำปาศักดิ์และดินแดนลาวตอนล่างอยู่ภายใต้อำนาจของไทย ใน พ.ศ.2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาจักรี เป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ์” นับว่าเป็นการพระราชทานยศให้แก่ขุนนางสูงที่สุดเท่าที่เคยมีปรากฏมาในสมัยนั้น
2.2 การตีเวียงจันทน์ มีสาเหตุมาจากพระวอเสนาบดีของเจ้าสิริบุญสารเกิดวิวาทกับเจ้าครองนครเวียงจันทน์ พระวอจึงหนีเข้ามาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ในจังหวัดอุบลราชธานี) ขอสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าสิริบุญสารได้ส่งกองทัพมาปราบและจับพระวอฆ่าเสีย ใน พ.ศ.2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมาหาราชจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบ ขณะที่ไทยยกทัพไป เจ้าร่มขาวเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบางมาขอสวามิภักดิ์ต่อไทยและส่งกองทัพมาช่วยตีเมืองเวียงจันทน์ด้วย เจ้าสิริบุญสารสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไป เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมทั้งพระบางมาไว้ที่ไทยด้วย (ส่วนพระบางนั้น ต่อมาไทยคืนให้แก่ลาวในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

ความเจริญทางด้านต่างๆ ในสมัยธนบุรี และการติดต่อกับต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการต่อสู้ปราบปราม ป้องกันและขยายอาณาเขตของประเทศ จึงไม่ค่อยมีเวลาจะที่จะพัฒนาประเทศทางด้านอื่นมากนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงพยายามสร้างความเจริญให้แก่ประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการปกครอง ลักษณะการปกครองของกรุงธนบุรี ดำเนินรอยตามแบบแผนของสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น
1.1 การปกครองส่วนกลางหรือราชธานี อยู่ในความรับผิดชอบของอัครมหาเสนนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม ดูแลฝ่ายทหาร และสมุหนายก ดูแลฝ่ายพลเรือน กับตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมทั้ง 4 นี้ มีหน้าที่ คือ
1) กรมเวียง มีหน้าที่ปกครองท้องที่ บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2) กรมวัง มีหน้าที่รับเกี่ยวกับราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาคดีความของราษฎร
3) กรมคลัง มีหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยอากร บังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และมีหน้าที่เกี่ยวกับพระคลังสินค้าการค้าสำเภาของหลวง
4) กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำนา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวง และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือและที่นา คำว่า “กรม” ในที่นี้หมายความคล้ายกับ “กระทรวง”ในปัจจุบัน
1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น
1) การปกครองหัวเมืองชั้นใน ที่อยู่รายรอบราชธานี เรียกว่า เมืองชั้นจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่า “ผู้รั้ง” ปฏิบัติตามคำสั่งของเสนาบดีจตุสดมภ์ในราชธานี
2) การปกครองหัวเมืองภายในราชอาณาจักร เรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองชื้นเอก โท ตรี
3) การปกครองหัวเมืองประเทศราช ที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอื่น ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามกำหนด ได้แก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีอธรรมราช
2. ด้านกฎหมายและการศาล กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีความในศาลสมัยธนบุรี ใช้ตามแบบสมัยอยุธยาเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่มีเพียงฉบับเดียว เกี่ยวกับการสักเลก คือ การลงทะเบียนชายฉกรรจ์เพื่อรับใช้ในราชการ เรียกว่า ไพร่หลวง การสักเลกในสมัยนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นระยะเวลาของการป้องกันและแผ่อำนาจเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ส่วนการศาลมักใช้บ้านของเจ้านาย บ้านของตุลาการ บางครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเป็นผู้พิพากษาคดีเอง และทรงใช้ศาลทหารและพระบรมราชโองการเป็นกฎหมายใช้ในการตัดสินคดีความด้วย
3. ด้านเศรษฐกิจ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว สภาพเศรษฐกิจของไทยตกต่ำมากประชาชนยากจนอัตคัดฝืดเคือง อาหารหายากและราคาแพง เนื่องจากในขณะที่เกิดศึกสงครามผู้คนต่างพากันหนีเอาตัวรอด การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักลง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ตั้งกรุงธนบุรีใหม่ๆ ด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวจากพ่อค้าต่างประเทศในราคาสูงเพื่อแจกจ่ายประชาชน และชักชวนให้ราษฎรกลับมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามเมืองต่างๆ ทำมาหากินดังแต่ก่อน นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังส่งเสริมทางด้านการค้าขาย มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศ อินเดียและประเทศใกล้เคียง สำหรับสิ่งของที่บรรทุกเรือสำเภาหลวงไปขาย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ และเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศ เช่น ผ้าลายและถ้วยชามมาขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการค้าขายนี้เป็นแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังสินค้า หรือกรมาท่า มีการส่งเสริมให้ราษฎรทำการเพาะปลูก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
4. ด้านสังคม สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะมีการทำศึกกับพม่าบ่อยครั้ง มีการสักเลกบอกชื่อสังกัดมูลนายและเมืองไว้ที่ข้อมือไพร่หลวงทุกคน ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ราชการปีละ 6 เดือน โดยการมารับราชการ 1 เดือน แล้วหยุดไปทำมาหากินของตนอีก 1 เดือนสลับกันไป เรียกว่า “การเข้าเดือนออกเดือน” ไพร่หลวงอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า “ไพร่ส่วย” คือ ไพร่หลวงที่ส่งสิ่งของแทนการใช้แรงงานแก่ราชการ ซึ่งเป็นพวกที่รับใช้แต่เฉพาะเจ้านายที่เป็นขุนนาง
5. ด้านการศึกษา แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงทะนุบำรุงการศึกษาอยู่เสมอ ศูนย์กลางการศึกษาในสมัยธนบุรีอยู่ที่วัด เด็กผู้ชายเมื่อมีอายุพอสมควร พ่อแม่มักเอาไปฝากกับพระ เมื่อมีเวลาว่างพระก็จะสอนให้อ่านเขียน หนังสือแบบเรียนที่ใช้คือหนังสือจินดามณี เมื่ออ่านออกเขียนได้แล้ว ก็เรียนแต่งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ศึกษาศัพท์ เขมร บาลี สันสกฤต วิชาเลข เรียนมาตราไทย ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย คิดหน้าไม้ (วิธีการคำนวณหาจำนวนเนื้อไม้เป็นยก หรือเป็นลูกบาศก์) การศึกษาด้านอาชีพ พ่อแม่มีอาชีพอะไรก็มักฝึกให้ลูกหลานมีอาชีพตามตนเอง โดยฝึกฝนตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เช่น วิชาช่างและแกะสลัก ช่างปั้น ช่างถม แพทย์แผนโบราณ ฯลฯ
ส่วนสตรี ประเพณีโบราณไม่นิยมให้เรียนหนังสือ มีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ เด็กผู้หญิงส่วนมากจะถูกฝึกสอนให้ด้านการเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน และมารยาทของกุลสตรี
6. ด้านศาสนา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญต่างๆ ในพระพุทธศาสนาถูกทำลายเสียหายมาก หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรี พระองค์ได้ฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่โดยชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ พระสงฆ์รูปใดที่ประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกไปเสีย พระสงฆ์รูปใดประพฤติอยู่ในพระวินัยทรงอาราธนาให้บวชเรียนต่อไป นอกจากนี้ พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ วิหาร เสาสนะ กุฏิสงฆ์และวัดวาอารามต่างๆ เช่น วันบางยี่เหนือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพระองค์ทราบว่าพระไตรปิฎกมีอยู่ที่ใด ก็ทรงให้นำมาคัดลอกเป็นฉบับหลวงไว้ที่กรุงธนบุรี แล้วส่งต้นฉบับกลับไปเก็บไว้ที่เดิม ทรงให้ช่างจารพระไตรปิฎกทั้งจบ ที่สำคัญที่สุดทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม
7. ด้านศิลปะและวรรณกรรม สมัยกรุงธนบุรีด้านศิลปะมีไม่ค่อยมากนัก เพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงให้มีการละเล่น เพื่อเป็นการบำรุงขวัญประชาชน ให้หายจากความหวาดกลัวและลืมความทุกข์ยาก มีขบวนแห่อัญเชิญและสมโภชพระแก้วมรกตเป็นเวลา 7 วัน การประชันละครระหว่างละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราช และละครหลวง
ผลงานทางด้านวรรณกรรมในสมัยนั้น มีน้อยและไม่สู้สมบูรณ์นัก วรรณกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์บางตอน หลวงสรวิชิต (หน) ประพันธ์ลิลิตเพชรมงกุฏและอิเหนาคำฉันท์ นายสวนมหาดเล็ก ประพันธ์โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี การไปติดต่อกับจีนในปลายรัชสมัยทำให้มีวรรณกรรมเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน หรือนิราศเมืองกวางตุ้ง

ส่วนผลงานด้านสถาปัตยกรรมในสมัยธนบุรี ไม่มีผลงานดีเด่นที่พอจะอ้างถึงได้

การติดต่อกับประเทศตะวันตก
ในสมัยธนบุรีประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศตะวันตก ดังนี้
1. ฮอลันดา ใน พ.ศ. 2313 ฮอลันดาจากเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ซึ่งเป็นสถานีการค้าของฮอลันดา และแขกเมืองตรังกานูได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อถวายปืนคาบศิลา จำนวน 2,200 กระบอก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองด้วย
2. อังกฤษ ใน พ.ศ.2319 กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้นำปืนนกสับ จำนวน 1,400 กระบอกและสิ่งของอื่นๆ เข้ามาถวายเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรี
3. โปรตุเกส ใน พ.ศ. 2322 แขกมัวร์จากเมืองสุรัต ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส นำสินค้าเข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรี และไทยได้ส่งสำเภาหลวงไปค้าขายยังประเทศอินเดีย

เหตุการณ์ตอนปลายสมัยธนบุรี
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป เข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบัน และจะให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั่วแผ่นดินจากข้าราชการที่ทุจริตกดขึ่ข่มเหงหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุทำให้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ราษฎรต่างทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าป่าไปเป็นอันมาก
ขณะเดียวกันก็เกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทราบข่าวกบฏ จึงสั่งพระยาสรรค์ขึ้นไปสอบสวน แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าพวกกบฏ ยกพวกเข้าปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรี ในเดือนเมษายน 2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวชและคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และพระยาสรรค์ก็ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน
ส่วนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังจะยกทัพไปตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน 2325 เมื่อมาถึงกรุงธนบุรี พระองค์ได้ซักถามเรื่องราวความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จึงให้ประชุมข้าราชการ ปรากฏว่าที่ประชุมลงความเห็นว่าให้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 48 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี
ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงตรากตรำในการสู้รบ เพื่อรักษาและขยายของเขตแผ่นดินโดยมิได้ว่างเว้น จนสามารถขยายเป็นอาณาจักรใหญ่ในแหลมทองนี้ได้ พระองค์ทรงเป็นนักรบ มิได้ทรงมีโอกาสแม้แต่จะเสวยสุขสงบในบั้นปลายพระชนม์ชีพ เพราะได้เกิดกบฏพระยาสรรค์ขึ้นก่อน บ้านเมืองวุ่นวาย จนเป็นเหตุให้ทรงถูกสำเร็จโทษดังที่กรมหลวงนรินทรเทวีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของท่านว่า “เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแท่น ปลายแผ่นดินแสนร้อย รุมสุมรากโคนโค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น”

การปกครองสมัยอยุธยา

การปกครองสมัยอยุธยา
กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัยมาก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง
มหาราชอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง ปรากฎว่าหัวเมืองมอญซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นได้ก่อการกบฎ
กรุงสุโขทัยนั้นไม่สามารถปราบปรามได้ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นว่ากรุงสุโขทัยอ่อนอำนาจลง จึงประกาศ
อิสรภาพและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย
การเปลี่ยนแปลงตามแบบขอม คือ แบบเทวสมมติ (Divine rights)

ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมติ หรือเทวสิทธิ์นี้ มีข้อน่าสังเกตุอยู่ 3 ประการ คือ

1. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ
2. พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองรัฐ
3. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว

ระบบเทวสิทธิ์นี้ ถือคติการปกครองมาจากขอมและฮินดูโดยแบ่งแยกผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การ
ปกครองออกจากกัน พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นสมมุติเทพเช่นพระอิศวรหรือพระนารายณ์"การ
ปกครองแบบเทวสิทธิ์ กระทำให้ชนชั้นปกครองกลายเป็นชนชั้นหนึ่งต่างหาก มีอภิสิทธิ์เสมือนเทพเจ้า
ตามคติของฮินดูราษฎรกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้ถูกปกครองอย่างแท้จริง สมบูรณาญาสิทธิราชถือ
กำเนิดมาจากระบบนี้และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าวหรือทาส และระบบศักดินา"

ลักษณะการปกครองสมัยโบราณนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏเป็นลักษณะการปกครอง 2 แบบ คือ แบบ
หนึ่งเป็นแบบขอมเข้ามาครอบครองถิ่นฐานประเทศอยู่เดิม ขอมมีการปกครองตามคติที่ได้มาจากอินเดีย
ส่วนไทยปกครองอย่างแบบไทยเดิม ส่วนทางใต้ปกครองตามแบบขอมเพราะขอมยังมีอำนาจอยู่ในเมือง
ต่าง ๆ เช่น ละโว้และเมืองอื่น ทางใต้การปกครองของขอมและของไทยมีที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ
ถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ต่างก็มีพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสองแบบแต่ของขอมนั้น
ถือลัทธิตามชาวอินเดีย คือสมมุติพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระอิศวรหรือพระนาราย์แบ่งภาคมา
เลี้ยงโลกและอาศัยความเป็นเจ้าตำราการปกครองลักษณะการที่ขอมเข้าปกครองราษฎร จึงคล้ายกับนาย
ปกครองบ่าว (Autocratic government) ส่วนการปกครองของไทยนั้น นับถือพระจ้าแผ่นดินเป็นบิดาของ
ประชาชน วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองของสกุลมาเป็นคติ และถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครอง
ครัวเรือน

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงได้ปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ โดยมีพระมหากษัตริยเ์ป็นผู้
อำนวยการปกครองเรียกการปกครองแบบนี้ว่า การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นราชธานี
และเมืองพระยามหานครตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าราชธานีมีวงเขตแคบลงทั้งนี้ก็ด้วยมีความประสงค์
ให้หัวเมืองชั้นในติดต่อกับราชธานีได้โดยสะดวก ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นเมืองพระยามหานครนั้น
อยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี เมื่อการคมนาคมยังไม่เจริญ ก็ย่อมติดต่อกับราชธานีได้โดยมากราชการ
บริหารส่วนกลางไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิด เมืองพระยามหานคร จึงเกือบไม่ขึ้นต่อราชการ
บริหารส่วนกลางเลย เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และได้รับการมอบหมาย
ให้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการปกครอง และในทางตุลาการ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรง
แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็มีอำนาจที่จะปกครองเมืองได้อย่างเต็มที่ เกือบไม่ต้องขึ้นหรือคอยรับคำสั่ง
จากราชธานีด้วยเหตุนี้เมื่อพระมหากษัตริย์ใดทรงมีอานุภาพก็รักษาเอกภาพแห่งพระราชอาณาจักรไว้ได้
อย่างเรียบร้อย แต่ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดหย่อนอานุภาพลง เจ้าเมืองมักจะคิดตั้งตนเป็นอิสระทำให้
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรไม่มั่นคง เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากราชการส่วนกลาง
และราชการปกครองส่วนภูมิภาคไม่มีความสัมพันธ์กันเพียงพอ

รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยก
การบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร สำหรับฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทาง
ด้านเวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกิจการเกี่ยวกับทหารและการป้องกันประเทศ เช่น
กรมช้าง กรมม้าและกรมทหารราบ มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงมีความ
สำคัญยิ่งต่ออนาคตของการจัดการปกครองประเทศการปกครองได้เป็นไปในทางเสริมสร้างสมบูรณาญา
สิทธิราชเต็มที่ เพราะได้พวกพราหมณ์และพวกเจ้านาย ท้าวพระยามาจากกรุงกัมพูชา ซึ่งมีความชำนาญ
ทางการปกครองอย่างถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อนไว้ ดังนั้นแนวความคิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และ
สถาบันแห่งพระองค์ ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าแต่กาลก่อน คือถือว่าเป็นสมมติเทวราชเต็มรูปแบบ
สำหรับการปรับปรุงแก้ไขการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค อันเป็นผลของการปฏิรูปดังกล่าว
นั้นก็คือได้มีการขยายเขตราชธานี และหัวเมืองชั้นในออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รวมอำนาจการ
ปกครองเข้าไว้ในส่วนกลางให้ราชการบริหารส่วนกลาง สามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้นและจัด
หัวเมืองชั้นในอยู่ในวงของราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ส่วนหัวเมืองชั้นในพระมหากษัตริย์ทรงอำนวย
การปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย ฉะนั้นผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในหรือเมืองชั้นจัตวาจึงเรียกว่า "ผู้รั้ง"
ไม่ใช่เจ้าเมืองและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชั่วเวลา 3 ปี ส่วนกรมการอันเป็นพนักงานปกครองก็
ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในราชธานีนอกจากนั้นปรากฎตามกฎมนเทียรบาล
และทำเนียบศักดินาหัวเมืองได้เลิกเมืองลูกหลวง 4 ด้านของราชธานีตามที่มีมาแต่ก่อน คงให้มีฐานะเป็น
เพียงเมืองชั้นจัตวาอาณาเขตวงราชธานี ซึ่งได้ขยายออกไปภายหลังการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ ส่วนระเบียบ
การปกครองเมืองภายนอก วงราชธานียังคงจัดเป็นเมืองพระยามหานครตามเดิม แต่แบ่งออกเป็นเมือง
ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรีเมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่ หัวเมืองชั้นนอกเพราะอยู่วงนอกราชธานีและอยู่ห่างไกล
หรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดนแต่ละเมืองก็มีเมืองอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานีและบรรดา
เมืองชั้นนอก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการ
เมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่างเป็นผู้ต่างพระองค์ทุกอย่างและมีกรมการพนักงานปกครองทุก
แผนกอย่างเช่นในราชธานีหัวเมืองต่อนั้นออกไป ซึ่งเมืองชนต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนต่อประเทศอื่น
ให้เป็นเมืองประเทศราชมีเจ้านายของชนชาตินั้นปกครองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้นๆ และเมือง
นั้นต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด 3 ปีครั้งหนึ่ง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ปลีกย่อยออกไปอีก ซึ่งได้แก่การจัดระเบียบการปกครองภายในเมืองหนึ่งๆทั้งหัวเมืองชั้นนอกและชั้น
ใน หรือเรียกว่า ระเบียบการปกครองท้องที่ โดยแบ่งเมืองออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออกเป็นตำบล ตำบล
แบ่งออกเป็นบ้าน ซึ่งเป็นที่รวมของหลาย ๆ ครัวเรือนแต่มิได้กำหนดจำนวนคน หรือจำนวนบ้านไว้การ
แบ่งเขตการปกครองตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีรูปร่างผิดแปลกไปกับการปกครองสมัย
ปัจจุบันมาก นักกฏหมายปกครองท้องที่ตราขึ้น ในสมัยหลังได้ร่างขึ้นโดยอาศัยรูปการปกครอง ซึ่งมีอยู่
แต่เดิมเป็นหลักใหญ่และได้แก้ไขดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

การปกครองระบบเทวสิทธิ์นี้ ถ้าจะพิจารณาถึงผลสะท้อนที่เกิดกับการบริหารแล้ว จะเห็นได้ว่า
ประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่อมีการสถาปนาประเทศเข้าสู่เสถียรภาพ ข้อเสียของระบบเทวสิทธิ์ก็ปรากฏขึ้น
เช่นชนฝ่ายปกครองหรือกษัตริย์ถูกแยกห่างออกจากฝ่ายถูกปกครองคือประชาชนมากเกินไปจนกลายเป็น
ชนชั้นหนึ่งอีกต่างหาก ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบบบิดาและบุตรมาก ประกอบกับชนชั้นปกครอง
ระดับรองลงมา อันได้แก่ มูลนายต่าง ๆ ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เกิดการกดขี่ทารุณและ
คดโกงขึ้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งพึงปรารถนา
ในทางโลก ผู้ใดยึดครองตำแหน่งย่อมได้มาทั้งอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ดุจเทพเจ้า ฉะนั้นตลอดระยะเวลา
อันยาวนานของการปกครองใต้ระบบเทวสิทธิ์ ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้
เป็นมูลเหตุไปสู่ความอ่อนแอ และต้องสูญเสียเอกราชให้แก่ข้าศึกไปถึงสองครั้งสองครา ซึ่งประวัติศาสตร์
ของกรุงศรีอยุธยาจะยืนยันข้อความจริงดังกล่าวได้ดี เหตุการณ์เช่นนี้มิได้มีปรากฎในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือ
การปกครองระบบบิดากับบุตร เพราะตำแหน่งกษัตริย์เป็นเพียงเสมือนตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น
เมื่อคนที่ได้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสิ้นไป คนใหม่ที่มีอาวุโสรองลงไปจะเข้ารับหน้าที่แทน มิได้ถือว่า
เป็นตำแหน่งพิเศษเปี่ยมด้วยอภิสิทธิ์ดังระบบเทวสิทธิ์

ข้อเสีย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของระบบเทวสิทธ์ที่สะท้อนเป็นมรดกต่อการปกครองมาจน
กระทั่งปัจจุบันคือได้สร้างสภาพจิตใจคนไทยให้มีความนิยมนับถือในตัวบุคคลมากกว่าหลักการเกินไป
ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดนิสัยราษฎรเลือกผู้ปกครองของตนโดย
อารมณ์ในด้านความชอบพอรักใคร่ยกย่องนับถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าในเรื่องหลักเกณฑ์และอุดมการณ์


ข้อน่าสังเกต อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการปกครองระบบเทวสิทธิ์ที่มีต่อการปกครองปัจจุบัน
ระบบโครงสร้างของประชาคมไทยประกอบด้วยชนชั้นใหญ่ ๆ เพียง 2 ชั้น คือชนชั้นปกครองและชน
ชั้นถูกปกครอง ชนชั้นปกครองนั้นได้แก่ พระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นองค์ประมุขของชาติกับบรรดา
ข้าราชการทั้งหลาย ส่วนชนชั้นถูกปกครองคือ บรรดาเกษตรกรพ่อค้าและประชาชนทั่วไปอย่างไรก็ดี
ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นไม่ใคร่ มีทั้งนี้เพราะชนชั้นถูกปกครองยอมรับสถานะตนอันเป็นผลทำให้
ประชาชนคอยพึ่งบริการจากทางราชการอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะขาดกลุ่มผลประโยชน์ที่จะคอย
รักษาผลประโยชน์แทนประชาชน จึงเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครองทั้งยัง
เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มในทางที่ประชาชนต้องเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองในลักษณะนี้ตลอดไปการ
ที่ปล่อยให้เกิดช่องว่างเช่นนี้ ทำให้บรรดาข้าราชการซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครองต้องรับภาระเป็นผู้ปกป้อง
ผลประโยชน์ของประชาชนตลอดไป ในลักษณะเช่นนี้สภาพความนึกคิดระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้
ปกครองมักมองไปคนละแง่คนละมุมความต้องการของประชาชน จึงมักเป็นสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้เสียเป็น
ส่วนใหญ่ แต่ความต้องการจะสนองเจตนารมณ์ของประชาชน หรือไม่ก็เป็นความยากลำบากอยู่ไม่น้อย
ที่จะทราบได้ ต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยาก็จะถึงสมัยกรุงธนบุรีในสมัยนี้การจัดระเบียบการปกครองทั้ง
ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็คงถือหลักที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะนับตั้งแต่พระเจ้าตากสินทรง
เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบมีหัวเมืองบางแห่งแข็งเมืองคิดขบถจึงต้องเสีย
เวลาไปปราบปรามหลายครั้ง มิหนำซ้ำพม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทยอยู่เสมอก็ต้องเสียเวลายกกองทัพ
ไปทำศึกกับพม่าอยู่เสมอพระองค์ จึงไม่มีโอกาสที่จะทำนุบำรุงประเทศและปรับปรุงการปกครองเลย