วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย คณะรัฐมนตรี


รัฐบาลไทย





ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นสถานที่ทำงานของรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี, สถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับผู้นำชาวต่างประเทศ ที่มาเยือนประเทศไทย และยังใช้เป็นสถานที่จัดงานรัฐพิธี เช่น งานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นต้น ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา

ทำเนียบรัฐบาล เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืน ตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

ชื่อบ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นชื่อพระราชทาน หรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ อันเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิม เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้าตึกไกรสร (ตึกไทยคู่ฟ้า) ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด

ต่อมา ราวต้นปี พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อ หรือเช่าบ้านนรสิงห์ เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ด้วยเห็นว่ามีความสวยงามยิ่ง ต่อมาในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขายบ้านแก่รัฐบาล ในราคา 2,000,000 บาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะ และเสียค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ

ล่วงมาถึงเดือนกันยายน ปีเดียวกัน จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุด ได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1,000,000 บาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) ได้อนุมัติภายใต้พระบรมราชานุญาต ให้กระทรวงการคลัง จ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แก่เจ้าพระยารามราฆพ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้ใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล และเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

รัฐบาลไทยจึงเปลี่ยนชื่อบ้านนรสิงห์เป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และ ทำเนียบรัฐบาล ตามลำดับ พร้อมกันนั้น ได้ย้ายที่ทำการสำนักนายกรัฐมนตรี จากวังสวนกุหลาบ เข้ามาด้วย ต่อมา ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ซื้อทำเนียบรัฐบาล จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทำสัญญาซื้อขายกันในราคา 17,780,802.36 บาท[1] แล้วจึงทำการโอนกรรมสิทธิ์ ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการราษฎร (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร แม้คณะกรรมการราษฎร จะแปรสภาพเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475แล้ว แต่ยังคงใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการต่อไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง ให้ย้ายสถานที่ปฏิบัติราชการ มาที่วังปารุสกวัน เนื่องจากเป็นสถานที่หนึ่ง ซึ่งคณะราษฎรเข้ายึดไว้ เมื่อคราวปฏิวัติสยาม ในปี พ.ศ. 2475 และเป็นสถานที่พักของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย โดยใช้ชื่อว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี วังปารุสกวัน” ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 สำนักนายกรัฐมนตรี จึงย้ายสถานที่ปฏิบัติราชการอีกครั้ง มายังวังสวนกุหลาบ ที่อยู่ใกล้เคียงกับวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นสถานที่หลังสุด ก่อนจะย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น